
แพะ: แพะกินอะไรได้บ้าง และ อะไรที่ห้ามกิน

Table of Contents
สำหรับมือใหม่ในการเลี้ยงแพะ มีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้ หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องของอาหารแพะ ส่วนใหญ่แล้วผู้เลี้ยงหรือเกษตรจะพอทราบว่าอาหารแพะส่วนใหญ่คือ หญ้า และพืช แต่ความจริงแล้วไม่ใช่พืชทุกอย่างที่แพะจะกินได้
แพะมักชอบกินหญ้าเนเปียร์และหญ้าแพงโกล่า กลับกันอาหารที่แพะห้ามกิน อาทิ ใบของมันสำปะหลังและน้ำแข็ง เป็นต้น
สำหรับผู้เลี้ยงบางคนที่ต้องการขุนแพะให้อ้วนก็มักเลือกที่จะผสมสูตรอาหารหรือไม่ก็ใช้อาหารแพะสำเร็จรูปอย่างอาหารแพะซีพี มาผสมกับอาหารหยาบ ซึ่งแพะมี 4 กระเพาะสามารถย่อยอาหารเหล่านี้ได้ดี
ในบทความนี้ Furry Farm จะพาคุณไปเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารแพะ, การให้อาหารแพะ และสูตรอาหาร เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงแพะให้มีสุขภาพดีและได้ผลผลิตดีตามที่ต้องการ
แพะกินอะไรได้บ้าง

แพะชอบทุกอย่างที่มาจากต้นกล้วย ไม่ว่าจะเป็นผล ใบ หรือแม้แต่ลำต้น
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องมี 4 กระเพาะซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่ต่างจากมนุษย์ แพะก็แตกต่างจากแกะและวัวที่มักชอบกินหญ้าบนพื้นที่ราบ แต่แพะมักจะกินได้ทั้งจากต้นไม้, พุ่มไม้ และหญ้าบนพื้นราบ
ดังนั้น ถ้าหากพื้นที่ในการเลี้ยงแพะของคุณมีอย่างจำกัด ส่งผลให้อาหารมีจำกัด คุณอาจต้องใช้เงินไปกับเรื่องนี้เยอะสักหน่อย เราแนะนำว่าควรให้อาหารแพะที่เหมาะสมอย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายแล้วคุณจะได้แพะที่มีสุขภาพดี, ได้ผลผลิตนมที่ดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาแพะก็ลดลงเช่นกัน
อาหารที่แพะกินได้ส่วนใหญ่จะเป็นหญ้า เช่น หญ้าเนเปียร์, หญ้าแพงโกล่า หรือจะเป็นอาหารประเภทอื่นก็ได้เช่นกัน อาทิ กล้วยที่สามารถกินได้ทั้งใบและลำต้น (หยวกกล้วย) และทางปาล์ม
นอกจากนี้ ยังมีพืชตระกูลถั่วที่แพะสามารถกินได้ เช่น กระถิน, ฮามาต้า และคาวาเคต เป็นต้น
แพะห้ามกินอะไร
แม้ว่าแพะจะเป็นสัตว์เลี้ยงง่ายกินง่ายเน้นกินพืชเป็นหลัก แต่จะมีอาหารบางอย่างที่ห้ามให้แพะกิน อาทิ น้ำแข็ง เพราะจะทำให้แพะเสียชีวิตได้ และใบมันสำปะหลังสด (หัวสำปะหลังกินได้) เนื่องจากในใบสดจะมีสารพิษชื่อ กรดไฮโดรไซยานิก (Hydrocyanic acid) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า กรดพลัสสิค (Prussic acid)
ถ้าหากสัตว์ได้รับสารพิษนี้เข้าไปจะมีอาการได้ภายใน 10 – 15 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจน ทำให้สัตว์แสดงอาการ ดังนี้
- หายใจติดขัด
- ตัวสั่น
- ชักกระตุก
- หากรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
แพะกินอาหารวันละกี่มื้อ
ปกติแล้วแพะผู้เลี้ยงจะให้อาหารแพะวันละ 2 มื้อ คือ เช้าและเย็น ในขณะที่ระหว่างมื้อคุณสามารถปล่อยให้มันออกหากินหญ้าตามธรรมชาติได้
การให้อาหารแพะ

ในช่วงแรกของ Furry Farm เมื่อเรามีแพะเพียง 10-20 ตัว เราปล่อยให้พวกมันกินอาหารจากป่า แต่เมื่อจำนวนแพะเพิ่มขึ้น เราต้องหาวิธีการให้อาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แน่นอนว่าอาหารหลักของแพะคือ หญ้า, พุ่มไม้ และยอดใบไม้ เป็นต้น การเลี้ยงแพะด้วยอาหารเหล่านี้อาจทำให้แพะมีชีวิตอยู่ได้คุณจะได้แพะที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน หากคุณต้องการเลี้ยงแพะให้มีคุณภาพดีทั้งประเภทแพะนมและแพะเนื้อ ให้แพะมีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ เหล่านี้คือ อาหารแพะที่คุณควรทำความเข้าใจ
อาหารแพะ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
อาหารหยาบ (Roughage)
อาหารหยาบ (Roughage)คือ อาหารที่มีใยอาหารสูงกว่า 18% ของวัตถุดิบแห้ง เนื้อไม่แน่น และได้มาจากพืชอาหารสัตว์ (Forage crop) และผลพลอยได้จากการเกษตร(Agriculture byproduct) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงแพะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
อาหารหยาบสด (pasture, and green forage)

แพะของเราชอบกินหญ้าเนเปียร์มาก แต่การตัดและขนย้ายหญ้านั้นต้องใช้พลังงานเยอะ
คือ อาหารหยาบที่มีความสดหรือมีความชื้นสูงที่ 70 -85% ซึ่งมักจะเป็นพืชที่ตัดมาสด ๆ แล้วให้แพะกิน หรือต้นหญ้า, ใบไม้ และยอดใบไม้ที่แพะเข้าไปแหล่งอาหารนั้นเอง
แพะสามารถกินผักอื่น ๆ ได้ เช่น ปอเทือง, ใบขนุน, แคไทร, ชะอม และใบชบา เป็นต้น แต่คุณต้องมั่นใจว่าผักสดเหล่านี้จะไม่มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อแพะของคุณ
อาหารหยาบแห้ง (dry forages and roughages)
อาหารหยาบแห้งมักถูกใช้เพื่อการเก็บรักษาอาหารเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลน โดยการนำอาหารหยาบสดมาตากแดด 2-3 แดด หรือจะนำมาอบด้วยความร้อน เพื่อเป็นการลดความชื้นให้เหลือไม่เกิน 15% และด้วยสภาพความชื้นประมาณนี้ จะทำให้เชื้อราและราเมือกเจริญเติบโตได้ยาก อาหารประเภทนี้จึงเก็บไว้ได้นานขึ้น
อาหารหยาบหมัก (silage)
เป็นการนำอาหารหยาบสด มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วใส่ลงในภาชนะบ่อหมักหรือถังพลาสติก อัดให้แน่น ปิดฝาให้สนิท ไม่ให้อากาศเข้าได้ และครบกำหนดเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถใช้เลี้ยงแพะได้
ผลพลอยได้การเกษตร (Agriculture byproduct)

Furry Farm มีเพื่อนบ้านใจดีหลายคนที่มอบผลผลิตเหลือใช้จากฟาร์มของพวกเขาให้เรา แพะชอบกินต้นข้าวโพดอ่อนมาก
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้มากมาย จึงส่งผลให้มีเศษที่เหลือทิ้งมากมายเช่นกัน เศษที่เหลือทิ้งเหล่านี้ สามารถนำมาปรับใช้เป็นอาหารแพะได้ ซึ่งวัตถุดิบที่นิยมใช้กัน ได้แก่ เปลือกสับปะรด, ฟางข้าว, ยอดอ้อย และต้นข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น
อาหารข้น (Concentrate)
เป็นอาหารแพะที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใยอาหารต่ำ แพะจึงสามารถย่อยและใช้ประโยชน์ได้สูง อาหารข้นมักทำจากเมล็ดพืช และผลพลอยได้จากโรงงานเสริมด้วยอาหารหยาบ เพื่อให้แพะมีสุขภาพดีสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มผลผลิตได้ทั้งแพะเนื้อและแพะนม แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามวัตถุดิบ ดังนี้
วัตถุดิบประเภทให้พลังงาน
เป็นการใช้วัตถุดิบที่ให้พลังงานสูง โดยมากจะอยู่ในรูปของคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้งและน้ำตาล วัตถุดิบประเภทนี้จะมีโปรตีนน้อยกว่า 20% และมีใยอาหารน้อยกว่า 18% วัตถุดิบประเภทนี้ ได้แก่ ข้าวโพด, ปลายข้าว, มันสำปะหลัง และรำละเอียด เป็นต้น
วัตถุดิบประเภทโปรตีน

ในภาคใต้ของประเทศไทย คุณสามารถหากากปาล์มและเมล็ดปาล์มได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมีพลังงานสูงแต่ไม่สามารถกระตุ้นกระบวนการย่อยอาหารทั้งหมดของแพะได้ จึงต้องเสริมด้วยอาหารที่มีเส้นใยสูง
วัตถุดิบกลุ่มนี้ให้โปรตีนที่สูงกว่า 20% ส่วนใหญ่เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีสำหรับแพะ มักจะมีระดับกรดอะมิโน อาทิ เมทไธโอนีน, ไลซีน และทรีโอนีน สูง มีใยอาหารน้อยกว่า 18% วัตถุดิบประเภทนี้ ได้แก่ กากเบียร์, กากเนื้อในเมล็ดปาล์ม, ใบกระถินป่น, กากเมล็ดฝ้าย, กากถั่วลิสง และกากถั่วเหลือง เป็นต้น
อาหารข้นสำเร็จรูป
คืออาหารข้นที่ผสมสำเร็จรูปหรือก็คือ หัวอาหารที่ได้จากการผสมวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อให้แพะได้รับสารอาหารครบถ้วน มีทั้งชนิดที่เป็นผงและเป็นเม็ด เพื่อสะดวกต่อการจัดการและการใช้งานตัวอย่างอาหารข้นสำเร็จรูป ได้แก่
- อาหารแพะซีพี 911-14: สำหรับแพะรุ่น และแพะท้องว่าง ขนาด 30 กิโลกรัม ราคาประมาณ 465 – 500 บาทซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารเสริมที่ทำให้แพะโตเร็ว
- อาหาร TMR: ซึ่งมีสูตรในการผสมอาหารอ TMR แพะ ได้แก่ เปลือกสับปะรด 25 กิโลกรัม, กากมันสำปะหลังสด 25 กิโลกรัม, กากถั่วเหลือง 10 กิโลกรัม, หญ้าแพงโกล่าแห้ง 9 กิโลกรัม, กระถินและกิ่งอ่อน 20 กิโลกรัม, ข้าวโพด 10 กิโลกรัม และแร่ธาตุรวม จำนวน 1 กิโลกรัม นำมาผสมให้เข้ากันและนำไปอัดเม็ด
อาหารเสริมประเภทแร่ธาตุ (Mineral supplements)
แม้ว่าสัตว์จะต้องการแร่ธาตุในปริมาณน้อย แต่ยังมีความจำเป็นอยู่ ซึ่งแร่ธาตุที่ใช้ผสมในอาหารแพะ ได้แก่ ไดแคลเซียมฟอสเฟต, เปลือกหอยป่น และแร่ธาตุปลีกย่อยเสริมในรูปของพรีมิกซ์ เป็นต้น หรืออาจให้แรธาตุก้อนแขวนไว้ในโรงเรือน เพื่อให้แพะเลียก็ได้เช่นกัน
อาหารเสริมประเภทวิตามิน (Vitamin supplements)
วิตามินที่ Furry Farm แนะนำ ได้แก่ วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี, วิตามินเค และวิตามินบี โดยเสริมในรูปแบบของพรีมิกซ์ได้ สามารถหาซื้อหรือติดต่อสอบถามได้ที่ร้านตุลาฟาร์ม หรือจะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิShopee และLazada ก็ได้เช่นกัน
สูตรอาหารแพะ
อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงแพะในบทความนี้เรามีมานำแนะนำกัน 2 สูตร ได้แก่ สูตรอาหารข้นแพะ และสูตรอาหารแพะเนื้อ จะใช้วัตถุดิบอะไร ในปริมาณเท่าไหร่ ติดตามได้จากรายละเอียดด้านล่างนี้
สูตรอาหารข้นแพะ
อาหารข้นของแพะมีหลายสูตร แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
อายุ 3-7 เดือน
อาหารข้นสูตรนี้เหมาะสำหรับลูกแพะที่หย่านมแล้ว จึงเหมาะสำหรับลูกแพะวัย 3-7 เดือน
วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ข้าวโพดบด 40 กิโลกรัม, รำละเอียด 20 กิโลกรัม, กากถั่วเหลือง 8 กิโลกรัม, กากมะพร้าวอัดน้ำมัน 24.5 กิโลกรัม, ใบกระถินแห้ง 5 กิโลกรัม, กระดูกป่น 1 กิโลกรัม, เกลือป่น 1 กิโลกรัม, แร่ธาตุและวิตามิน/พรีมิกซ์สำเร็จรูป 0.5 กิโลกรัม
อายุ 7 เดือนขึ้นไป
สูตรนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงแพะขุน ที่ผู้เลี้ยงต้องการเร่งปริมาณและคุณภาพเนื้อเพื่อส่งตลาด
วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ข้าวโพดบด 50 กิโลกรัม, รำละเอียด 10 กิโลกรัม, ยูเรีย (46-0-0) 1.5 กิโลกรัม, กากมะพร้าวอัดน้ำมัน 26.5 กิโลกรัม, ใบกระถินแห้ง 10 กิโลกรัม, กระดูกป่น 1 กิโลกรัม, เกลือป่น 0.9 กิโลกรัม และกำมะถันผง 0.1 กิโลกรัม
แม่แพะที่ใหนมลูก
อาหารสูตรเข้มข้นสำหรับแม่แพะที่กำลังให้นมลูก เพื่อให้ทั้งแม่และลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง
วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ มันเส้น 45 กิโลกรัม, รำละเอียด 18 กิโลกรัม, กากมะพร้าวอัดน้ำมัน 23.5 กิโลกรัม, ใบกระถินแห้ง 10 กิโลกรัม, ยูเรีย (46-0-0) 1.5 กิโลกรัม, กระดูกป่น 1 กิโลกรัม, เกลือป่น 0.9 กิโลกรัม และกำมะถันผง 0.1 กิโลกรัม
ธรรมดา ท้องว่าง อายุเกิน 1 ปีขึ้นไป
อาหารข้นสูตรนี้เหมาะกับแพะที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ให้กินตอนท้องว่าง เนื่องจากสูตรนี้มีสารอาหารสำคัญเพียงพอต่อความต้องการของแพะโต และช่วยลดโอกาสที่แพะจะกินอาหารมากเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เช่น โรคอ้วน หรือโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
วัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่ ข้าวโพดบด 50 กรัม, รำละเอียด 10 กิโลกรัม, กากมะพร้าวอัดน้ำมัน 26 กิโลกรัม, ใบกระถินแห้ง 10 กิโลกรัม, ยูเรีย (46-0-0) 1.5 กิโลกรัม, กระดูกป่น 1.5 กิโลกรัม, เกลือป่น 0.9 กิโลกรัม และกำมะถันผง 0.1 กิโลกรัม
สูตรอาหารแพะเนื้อ

การเลี้ยงแพะเนื้อให้มีขนาดที่ได้มาตรฐาน และได้เนื้อที่มีคุณภาพ แพะเนื้อควรกินอะไร ในบทความนี้ Furry Farm มีมาแนะนำกันถึง 8 สูตร ดังนี้
สูตรที่ 1
วัตถุดิบ: หยวกกล้วยหั่นสับ 1 ต้น และหัวอาหารเม็ด ในสัดส่วนที่เท่ากับหยวกกล้วย
วิธีทำ: นำหยวกกกล้วยผสมกับหัวอาหารในกระบะผสม และใส่รางอาหารแพะ ให้แพะกิน ตามสูตรนี้ใช้เลี้ยงแพะได้ประมาณ 20 ตัวต่อมื้อ
สูตรที่ 2
วัตถุดิบ: กระถินทั้งใบและกิ่ง
วิธีทำ: บดกิ่งและใบ หรืออาจจะตัดเป็นกิ่งใหญ่ ให้แพะกินก็ได้เช่นกัน
สูตรที่ 3
วัตถุดิบ: ทางปาล์มน้ำมันสับ 2 กิโลกรัม และ อาหารข้น 0.4 กิโลกรัม (ทางปาล์ม 30 ทางใช้เลี้ยงแพะได้ 100 ตัวต่อมื้อ)
วิธีทำ: นำใบและทางปาล์มมาเข้าเครื่องสับหยาบ ผสมกับอาหารข้น ให้แพะกิน 2-3 มื้อ ต่อวัน ต่อแพะ 1 ตัว
สูตรที่ 4
วัตถุดิบ: ขี้เค้กปาล์มน้ำมัน 100 กิโลกรัม, เมล็ดปาล์มน้ำมัน 50 กิโลกรัม และหัวอาหาร 50 กิโลกรัม
วิธีทำ: นำวัตถุดิบทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน นำไปให้แพะกินวันละ 2 – 3 รอบ เช้า, กลางวัน และเย็น สำหรับแพะแม่พันธุ์ ให้กินวันละมื้อ คือ มื้อเช้า
สูตรที่ 5
วัตถุดิบ: อาหารสำรเร็จรูป 1 ส่วน, ผิวถั่วเหลืองโม่ 1 ส่วน และหญ้าที่หาได้ 1 ส่วน
วิธีทำ: นำวัตถุดิบทุกอย่างมาผสมรวมกัน ใส่ในรางอาหารแพะ ให้กินเป็นอาหารเสริมในมื้อเย็น มื้อเดียว
สูตรที่ 6
วัตถุดิบ: มันสำปะหลังสับ 1 ส่วน, กระถินสับ 1 ส่วน, รำละเอียด 1 ส่วน และกากถั่วเหลือง 1 ส่วน
วิธีทำ: นำส่วนผสมทั้งหมดผสมรวมกัน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถให้แพะกินได้แล้ว
สูตรที่ 7
วัตถุดิบ: ต้นข้าวโพดสับ 30 กิโลกรัม, กากสาคูบด 2 กิโลกรัม, ต้นและใบกระถินสับละเอียด 3 กิโลกรัม
วิธีทำ: นำส่วนผสมคลุกให้เข้ากัน ใส่ในถุงดำใหม่ใบใหญ่ มัดปากถุงให้สนิท ปล่อยทิ้งไว้ 7 วัน แล้วถึงนำไปให้แพะกินได้
สูตรที่ 8
วัตถุดิบ: หญ้า หญ้าขน หรือหญ้าคา อายุ 1 ปี, กระถิน, ข้าวโพด, ใบปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง, ใบอ้อย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือจะนำทั้งหมดมาผสมกัน 100 กิโลกรัม หรือ 10 ส่วน, เกลือเม็ด 1 กิโลกรัม หรือ 1 ส่วน พร้อมด้วยถังหมักขนาด 2 ลิตร
วิธีทำ: แบ่งเกลือ 1 กิโลกรัมออกเป็น 4 ส่วน นำหญ้าหรือวัตถุดิบที่กล่าวมาสับเป็นชิ้นเล็ก หรือบดให้ละเอียด โรยเกลือส่วนที่ 1 ลงไปให้ทั่วถังหมัก ใส่หญ้าลงไปให้เต็ม เหยียบให้หญ้ายุบตัวเหลือครึ่งหนึ่งของถัง จากนั้น โรยเกลือส่วนที่ 2 ลงไป ใส่หญ้าและเหยียบให้แน่น ขั้นตอนสุดท้าย ใส่เกลืออีก 2 ส่วนที่เหลือลงไปในถังหมักให้ทั่ว ปิดฝาให้แน่น หมักทิ้งไว้ 21 วัน ก็สามารถเลี้ยงแพะได้ สามารถให้แพะกินวันละ 2-3 มื้อ เช้า, กลางวัน และเย็น หญ้าหมักนี้สามารถเก็บได้นาน 1 ปี
ปกติแล้ว แพะกินอาหารวันละประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว และแพะต้องการอาหารข้นวันละ 0.5 – 1กิโลกรัมต่อวัน โดยประมาณ
ลักษณะทางกายภาพที่เกี่ยวข้องการกินของแพะ
แพะชอบกินหญ้าและอาหารประเภทพืชเป็นหลัก แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องจึงมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับวัวที่มี 4 กระเพาะเหมือนกับวัว ซึ่งประกอบไปด้วย
- กระเพาะรูเมน (Rumen) หรือ ผ้าขี้ริ้ว: เป็นกระเพาะที่ใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่ย่อยอาหารหยาบ เช่น หญ้าแห้ง และกระเพาะส่วนนี้ยังช่วยสร้างความอบอุ่นกับร่างกายแพะอีกด้วย
- กระเพาะเรติคิวลัม (Reticulum) หรือ กระเพาะรังผึ้ง: จะทำหน้าที่ร่วมกับกระเพาะรูเมน ทำหน้าที่ย่อยในส่วนของอาหารหยาบที่กระเพาะรูเมนส่งต่อมา กระเพาะนี้จะเกิดการหดตัวเพื่อสำรอกอาหารมาให้แพะเคี้ยวเอื้องต่อไป
- กระเพาะโอมาซัม (Omasum) หรือ กระเพาะสามสิบกลีบ: เอนไซม์ในนี้จะย่อยสลายอาหารให้เล็กลงไปอีก และส่งต่อให้กระเพาะอะโบมาซัม
- กระเพาะอะโบมาซัม (Abomasum): ทำหน้าที่ย่อยเมล็ดพืชและนม และจะส่งผ่านสู่ลำไส้เล็ก
บทสรุป
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่ชอบกินพืชเป็นหลัก อาหารประเภทพืชที่แพะชอบกิน ได้แก่ หญ้าเนเปียร์ และหญ้าแองโกล่า เป็นต้น ขณะที่พืชที่ห้ามกินได้แก่ น้ำแข็ง และใบมันสำปะหลัง เพราะใบสดจะมีสารพิษชื่อ กรดไฮโดรไซยานิก (Hydrocyanic acid) ที่จะทำให้แพะหายใจติดขัด, ชัก และอาจเสียชีวิตได้
อาหารแพะนอกจากการกินหญ้า, ใบไม้ และยอดต้นไม้แล้ว หากคุณต้องการให้แพะมีสุขภาพที่แข็งแรง อ้วนท้วนสมบูรณ์ คุณต้องมีการจัดการเรื่องการให้อาหารแพะ โดยมีทั้งอาหารหยาบ และอาหารข้น โดยคุณสามารถนำสูตรอาหารข้นและสูตรอาหารแพะเนื้อของเราไปปรับใช้ได้
แม้ว่ามันจะสามารถกินพืชหรือกินผักก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะกินได้ทุกอย่าง การเลี้ยงแพะให้หาอาหารกินตามธรรมชาตินับเป็นวิธีที่ง่ายแต่จะทำให้แพะมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงและน้ำหนักอาจต่ำกว่ามาตราฐาน
หากคุณต้องการแพะที่แข็งแรงอ้วนท้วนสมบูรณ์และได้ผลผลิตของน้ำนมตามที่ต้องการ การเรียนรู้และใส่ใจเรื่องอาหารแพะ ว่าอะไรที่แพะกินได้ และอะไรที่ห้ามไม่ให้แพะกินจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากหากคุณต้องการประสบความสำเร็จในการเลี้ยงแพะ