ซื้อขายแพะ ราคา พร้อมการขนส่ง

Christopher Baude
Written by Baude Christopher การตลาด
Updated: 2024-12-01
Goats looking out from a goat pen

Table of Contents

การเลือกซื้อแพะก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่คุณไม่ต้องการที่จะซื้อรถที่มีระบบเกียร์ไม่ดีหรือได้สุนัขที่เป็นโรคสะโพกเสื่อม คุณต้องแน่ใจว่าแพะที่คุณจะซื้อนั้นมีสุขภาพที่แข็งแรงและคุณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับสัตวแพทย์ (ยกเว้นว่าคุณต้องการที่จะช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมหรือป่วย)

ในบทความนี้ เราจะมาแบ่งปันเทคนิคดี ๆ ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะให้คุณได้ทราบว่าแพะของคุณมีสุขภาพดีหรือไม่ พร้อมราคา และการขนส่งแพะที่จะไม่ทำให้แพะเครียดเกินไป

วิธีเช็คแพะที่แข็งแรงจากผู้ขาย

Testicles of an American Boer goat

เมื่อเราซื้อแพะพันธุ์อเมริกันบอร์แท้ตัวแรก เราได้ถามคำถามหลายข้อและตรวจสอบแพะอย่างละเอียดจากทุกมุม

คุณสามารถค้นหาข้อมูลได้มากมายจากการถามคำถามกับผู้ขาย จากนั้นคุณสามารถป้องกันตัวเองได้มากขึ้นด้วยการเช็คข้อมูลทั้งหมดที่คุณได้จากผู้ขายกับในสัญญาว่ามีระบุไว้หรือไม่\

จากคำถามด้านล่างนี้คุณสามารถใช้เป็นแนวทางในการช่วยพิจารณาได้ว่าแพะที่คุณจะซื้อนั้นมีสุขภาพดีหรือไม่

  • แพะได้ตรวจโรคอะไรแล้วบ้าง? ผลลัพธ์เป็นอย่างไร?
  • แพะมีโรคติดต่อหรือไม่? คุณมีการจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?
  • โปรแกรมการให้อาหารลูกแพะแรกเกิดเป็นอย่างไร?
  • ฉีดวัคซีนอะไรบ้าง?
  • คุณเคยมีแพะที่เสียชีวิตจากอาการป่วยในไม่กี่ปีที่ผ่านมาไหม? สาเหตุเกิดจากอะไร?
  • เคยมีประวัติแพะทำแท้งในฟาร์มของคุณไหม? อธิบาย
  • สำหรับแพะเนื้อ: แพะของคุณมีน้ำหนักที่ตลาดแพะต้องการอยู่ในประเภทใด?
  • สำหรับแพะขน: แพะของคุณได้ขนเฉลี่ยน้ำหนักเท่าไหร่? มีชนิดและคุณภาพเป็นอย่างไรบ้าง?
  • สำหรับแพะนม: คุณได้ทดสอบคุณภาพนมหรือไม่? คุณได้รับนมจากแพะ, แม่แพะ หรือแม่ของแพะตัวผู้?
  • คุณเลี้ยงแพะด้วยอะไร? รวมทั้งแร่ธาตุด้วย?
  • คุณช่วยบอกชื่อผู้ที่คุณเคยขายแพะให้สัก 3 คนได้ไหม?

หากฟาร์มที่คุณจะไปซื้อแพะนั้นอยู่ไกลเกินกว่าจะไปเยี่ยมชม คุณจะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบฝูงแพะได้เลย นอกจากการรวบรวมข้อมูลจากคำถามก่อนหน้าเท่านั้น ดังนั้น หากคุณมีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็สามารถถามได้เลย เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจก่อนการตกลงซื้อขายแพะในขั้นตอนต่อไป:

  • ถามคำถามที่เจาะจงลงไปเกี่ยวกับคุณลักษณะที่อาจพบในการทดสอบ เช่น “แพะตัวนี้มีตำหนิหรือโรคประจำตัวหรือไม่?”
  • ขอภาพถ่ายแพะจากมุมต่าง ๆ
  • ขอประวัติสุขภาพของแพะ

วิธีการตรวจสอบแพะ

หากคุณอยู่ใกล้กับฟาร์มของผู้ขายแพะและคุณพอเดินทางไปได้ เราแนะนำว่าให้เดินทางไปเพื่อขอดูแพะเพื่อที่คุณสนใจจะซื้อ (แต่ถ้าเป็นลูกแพะที่ยังไม่คลอด ให้ดูที่แม่แพะได้) และประวัติสุขภาพที่ผู้ขายมี คุณสามารถใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบแพะได้ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของอาการป่วยเท่านั้นแต่ยังสามารถตรวจสอบเรื่องคุณภาพแพะได้อีกด้วย

ลองสังเกตแพะจากระยะไกล ดูว่ามันมีการเคลื่อนไหวอย่างไร มันเดินขากะเผลกหรือเดินอยู่บนขาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ และเมื่อคุณเดินไปถึงแพะ ให้ตรวจสอบร่างกายของมัน ดังนี้:

✓ ประเมินน้ำหนักของแพะ ด้วยการสัมผัสที่ตัวแพะและประเมินว่าแพะผอม, อ้วน หรือมีน้ำหนักเฉลี่ยกำลังดี กระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังจะเป็นตัวบ่งบอกได้ดีที่สุด ด้วยการให้คะแนน 1 (ผอมมาก) ถึง 5 (อ้วน) หากแพะมีขนาดกำลังคะแนนร่างกายจะอยู่ที่ 3 แต่ก็อาจมีบางช่วงที่คะแนนจะลดลงเหลือ 2 เนื่องจากแพะตัวผู้อาจวิ่งตามล่าแพะตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์

✓ ตรวจเช็คร่างกายเพื่อหาก้อนที่ผิวหนัง, อาการบวม รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ

✓ มองหาจุกนมเสริม, จุกนมแยก และจุกนมขนาดเล็ก

✓ สังเกตขนแพะที่ลำตัวว่ามีสีหมองคล้ำ, มีรังแค หรือหลุดร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือไม่

✓ ตรวจตาและจมูก เพื่อดูว่ามีสะเก็ดหรือมีน้ำมูกหรือไม่

✓ เช็คว่ามีสัญญาณของอาการถ่ายเหลวหรือไม่

✓ ดึงริมฝีปากลงและตรวจดูเหงือกว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ (ปกติเหงือกแพะควรมีสีชมพู)

✓ หากแพะกำลังถูกรีดนมอยู่ ให้ตรวจดูว่ามีก้อนที่เต้านม, สัดส่วนเต้านมไม่เท่ากัน หรือมีระยะห้อยของเต้านมมากหรือน้อยแค่ไหน และขอรีดนมเอง หากคุณจะซื้อแพะตัวนั้น ๆ มาเพื่อเป็นแพะนม

สังเกตการณ์บ้านฝูงแพะ

สังเกตฝูงแพะที่เหลือ ขณะที่คุณอยู่ในฟาร์ม เพื่อดูว่าแพะโดยรวมมีลักษณะอย่างไร (นี่ถือเป็นโอกาสที่คุณจะได้เห็นว่าเจ้าของฟาร์มมีการจัดการพื้นที่ในการเลี้ยงแพะและโรงเก็บอุปกรณ์ไว้อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจ)

ลองมองหาแพะจากระยะไกลและอาศัยการตรวจสอบแพะรายตัวที่คุณสนใจ ที่สำคัญ คุณต้องแน่ใจว่า:

✓ ฝูงแพะได้รับการดูแลอย่างดี

✓ แพะกำลังเคี้ยวเอื้องอยู่

✓ คอกแพะมีความสะอาด

✓ แพะที่ป่วยถูกแยกออกจากแพะที่มีสุขภาพดี

ซื้อแพะได้ที่ไหน

สำหรับผู้ที่สนใจจะซื้อแพะ สามารถติดต่อสอบถามได้จากผู้ขายและกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ได้

สมาคมผู้เลี้ยงแพะ – แกะ แห่งประเทศไทย

กลุ่มซื้อขายแพะแกะ ภาคเหนือตอนล่าง 

ก้องภพ ฟาร์มแพะ

เอกรัตน์ฟาร์มแพะ

ราคาแพะแบ่งตามเพศและช่วงวัย

Goat pen in palm tree plantation

ฟาร์มแพะแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง เราจึงสามารถเจรจาต่อรองจนได้ข้อตกลงที่ดีในการซื้อแพะทั้งหมด โดยแพะแต่ละเพศและอายุถูกจัดหมวดหมู่ตามระดับราคาที่แตกต่างกัน รวมทั้งหมดเราซื้อแพะ 62 ตัว โดยมีราคาเฉลี่ยตัวละ 4,300 บาท

เพศและอายุของแพะนับเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดราคาซื้อขายแพะ แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่จะเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายแพะ ได้แก่ เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์, ความสวยงาม และเรื่องสุขภาพโดยรวม เป็นต้น ทั้งนี้ ราคาแพะแบ่งตามเพศและช่วงวัย มีดังนี้

เพศอายุราคา (บาท)
เพศผู้0-8 เดือน10,000
เพศผู้8 เดือน ขึ้นไป15,000 – 20,000
เพศเมีย0-8 เดือน4,000
เพศเมีย8 เดือน ขึ้นไป6,000

แพะเพศผู้ที่อายุ 0-8 เดือน เราสามารถขายได้ที่ 10,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นแพะพ่อพันธุ์ในวัยนี้สามารถขายได้ที่ 15,000 บาท โดยประมาณ ขณะที่แพะเพศผู้ อายุ 8 เดือน ขึ้นไป โดยปกติแล้ว แพะเพศผู้จะสามารถนำมาผสมพันธุ์กับเพศเมียได้ควรมีอายุที่ 1 – 1 ½ เป็นต้นไป เหมาะกับการนำไปผสมพันธุ์ จึงทำให้มีราคาขายที่สูงขึ้น

แพะเพศเมีย อายุ 0-8 เดือน หากเป็นแพะแม่พันธุ์จะสามารถขายได้ในราคา 6,000 – 8,000 บาท นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความสวยและสุขภาพโดยรวมด้วย

สุดท้ายกับแพะเพศเมียที่อายุ 8 เดือน ขึ้นไป วัยนี้สามารถพร้อมกับการผสมพันธุ์ได้แล้ว ร่างกายมีความสมบูรณ์ต่อการตั้งท้อง ราคาสูงขึ้นตามลำดับ

การขนส่งแพะ

Goat buck tied onto a pickup truck

การขนส่งแพะ สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนแพะที่ขนย้ายในคราวเดียว หากทำได้ควรหลีกเลี่ยงการวางแพะในพื้นที่กว้าง เพราะอาจทำให้พวกมันล้มหรือบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้ คุณควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายแพะในวันที่มีสภาพอากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด อีกทั้งวิธีการขนส่งบางวิธีอาจไม่เหมาะกับแพะที่มีขนาดใหญ่ แต่คุณสามารถขนส่งแพะได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้:

  • ท้ายกระบะรถปิ๊กอัพที่มีกรงสูง
  • ด้านหลังของรถตู้ SUV หรือเบาะหลังรถยนต์ แต่คุณควรต้องใช้ผ้าใบหรือผ้าเช็ดตัวปูที่เบาะรถสักหน่อย ป้องกันอุจจาระแพะเปื้อนภายในรถ
  • หากอุ้มแพะบนตัก คุณต้องปูผ้าที่หน้าตักด้วย แพะที่ถูกอุ้มจะไม่ลุกยืนและฉี่ใส่คุณแต่มันจะอุจจาระใส่คุณแทน
  • แต่ไม่ว่าคุณจะขนย้ายแพะตัวใหม่อย่างไร เพื่อให้การเดินทางปราศจากความเครียด เราแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้:
  • เคลื่อนย้ายแพะขึ้นรถอย่างระมัดระวัง
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีผ้าปูหรือเบาะรองนอนอย่างเพียงพอ
  • ออกตัว, หยุดรถ, เลี้ยวรถ หรือเข้าโค้งอย่างช้า และนุ่มนวล

หากต้องเดินทางหลายวัน คุณควรเตรียมหญ้าแห้งให้แพะระหว่างการเดินทางด้วย และควรหยุดพักทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง เพื่อให้แพะได้กิน ดื่ม และฟื้นฟูสมดุล

สัญญาณที่บอกว่าแพะเครียด

แม้ว่าแพะของคุณจะมีสุขภาพดี แต่การขนส่งก็สามารถสร้างความเครียดให้กับพวกมันทั้งอารมณ์และร่างกายได้

ความเครียดทางอารมณ์ ได้แก่:

  • อยู่ห่างจากแม่และฝูงเพื่อน
  • สูญเสียจุดยืนในฝูงและต้องสร้างลำดับชั้นใหม่
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย

ความเครียดของร่างกาย อาจรวมถึง:

  • การถูกเคลื่อนย้ายไปยังพาหนะขนส่ง
  • ยืนเป็นเวลานานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่
  • เจอกับอุณหภูมิที่สุดขั้ว เช่น ลมแรง หรือฝนตกหนัก
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ปริมาณน้ำและอาหารไม่เพียงพอ
  • เบียดเสียดหรือถูกเคลื่อนย้ายไปกับแพะที่ไม่คุ้นเคย
  • ถูกแพะที่นิสัยดุร้ายรังแกมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุด ความเครียดที่เกิดจากการขนส่งอาจเป็นเหตุให้แพะมีความอยากอาหารลดลงและดูเหมือนไม่ค่อยเป็นตัวเอง แต่อาการเหล่านี้จะหายไปในไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจเป็นวัน ให้ตระหนักไว้ว่าแพะต้องการเวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ต้องห่างจากความปลอดภัยที่เคยมีมา

การตรวจเลือดแสดงให้เห็นว่า แพะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังการขนส่ง เพื่อหยุดการตอบสนองต่อความเครียดทางกายภาพ แต่ผลของการเคลื่อนไหวที่มีหต่อระบบภูมิคุ้มกันของแพะ อาจคงอยู่นานกว่านั้น และที่เลวร้ายที่สุด ความเครียดจากการเดินทางทำให้เกิดไข้ในการขนส่ง ทำให้เกิดโรคปอดบวมและท้องเสียในบางครั้ง

สัญญาณที่ควรสังเกต ได้แก่ แพะมีอุณหภูมิเกิน 39.7 องศาเซลเซียส น้ำมูกไหล ไอ หายใจเร็ว หรือเสียงสั่นในอก ติดต่อสัตวแพทย์ หากแพะตัวใหม่ของคุณมีอาการเหล่านี้

เพื่อลดผลกระทบจากความเครียดจากการขนส่ง ให้น้ำปริมาณมากแก่แพะ การให้น้ำแพะให้เปียก และโพรไบโอติกบางชนิด พร้อมกับเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

การกักแพะใหม่ ป้องกันการแพร่โรค

หากคุณเพิ่งได้แพะตัวแรกมา แน่นอนว่าจะไม่มีการกักแพะของคุณ แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้แพะใหม่มาเพิ่มในฝูง คุณจะต้องกักแพะตัวใหม่ไว้อย่างน้อย 30 วัน ถ้าเป็นไปได้ นั่นหมายความว่าคุณต้องมีโรงเรือนแพะหรือคอกแพะให้เพียงพอ เพื่อแยกฝูงใหม่ออกจากแพะเดิมที่มีได้อย่างสมบูรณ์

การกักกันแพะจะช่วยปกป้องแพะตัวอื่นจากปัญหาสุขภาพที่ไม่ทราบหรือไม่เปิดเผยซึ่งแพะตัวใหม่อาจมีได้

ในช่วงกักกันแพะ ให้ปฏิบัติดังนี้:

  • ให้พวกมันตรวจหา CAEV หรือโรคอื่น ๆ ที่คุณต้องการทดสอบ เว้นแต่ผู้ขายจะแจ้งข้อมูลให้คุณทราบว่าแพะได้รับการทดสอบและมีผลเป็นลบ
  • สังเกตแพะ เพื่อดูอาการของโรคต่าง ๆ เช่น แผลที่ปากหรือฝี
  • ดูว่าแพะปรับตัวอย่างไรกับการให้อาหารและการจัดการของคุณ
  • ทำการวิเคราะห์อุจจาระและถ่ายพยาธิ หากจำเป็น หากคุณไม่สามารถวิเคราะห์อุจจาระได้ ให้ถ่ายพยาธิแพะทุกตัวในการกักกันเป็นประจำ

เมื่อคุณได้ทำความคุ้นเคยกับฝูงแพะแล้ว ให้ระวังการกลั่นแกล้งที่มากเกินไปหรือเป็นอันตราย ขณะที่พวกเขากำหนดสถานะของตนใหม่ในฝูงหรือในหมู่แพะตัวใหม่ และแยกผู้อันธพาลออกจากกัน ในที่สุดคุณก็สามารถคาดหวังได้ว่าแพะตัวใหม่จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและกลับมาเป็นปกติได้

สรุป

การซื้อขายแพะคุณควรตรวจสอบสุขภาพโดยรวมและประวัติสุขภาพของแพะเสียก่อน หากแหล่งที่คุณจะซื้อนั้นอยู่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางไปได้ ให้สอบถามจากผู้ขายอย่างละเอียด แต่ถ้าหากคุณสามารถเดินทางไปที่แหล่งขายนั้นได้ ให้คุณสังเกตเรื่องการจัดการฟาร์มโดยรอบ สัมผัสกับแพะที่คุณต้องการซื้อ เพื่อเช็คสภาพร่างกายของแพะว่าผอม, อ้วน หรือกำลังดี ก่อนการซื้อขายควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าข้อมูลที่คุณได้นั้นมีอยู่ในสัญญาแล้ว

ราคาขายของแพะจะแตกต่างกันไปตามเพศและช่วงวัย รวมถึงความสวยงาม สมบูรณ์ของร่างกายโดยรวม ความพร้อมในการผสมพันธุ์ของทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

การขนส่งแพะก็มีความสำคัญ เนื่องจากหากการเตรียมความพร้อมหรือการจัดการระหว่างการขนส่งไม่ดีเท่าที่ควร อาจส่งผลลบต่อแพะได้ทั้งอารมณ์และร่างกาย

การซื้อขายแพะและการขนส่งควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ เพราะหากคุณได้แพะที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์หรือไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจได้ คุณอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับสัตวแพทย์มากกว่าค่าอาหารแพะ

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *