
ขี้แพะ ประโยชน์ และวิธีหมักปุ๋ยขี้แพะ

Table of Contents
ขี้แพะ หรือ มูลแพะ (Goat manure) นับเป็นขยะอินทรีย์ที่เกษตรกรหลาย ๆ คนนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาหมักเป็นปุ๋ยหมักขี้แพะได้ เรียกได้ว่าเกือบจะเป็น Zero Waste กันเลยทีเดียว
ผู้ที่เลี้ยงแพะส่วนใหญ่มักรวบรวมขี้แพะและนำไปขายแบบสด จากนั้นเกษตรกรที่รับซื้อขี้แพะก็จะนำขี้แพะสดนี้ไปหมัก เพื่อนำปุ๋ยที่ได้นี้ใช้นเพื่อการปรับปรุงดิน และเพิ่มธาตุอาหารในดินให้กับผัก ผลไม้ และสวนดอกไม้ เป็นต้น
วิธีการหมักปุ๋ยขี้แพะนั้นมีหลากหลายสูตรตามความสะดวกของเกษตรกรในการหาวัตถุดิบในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งในบทความนี้ Furry Farm ก็มีสูตรในการหมักปุ๋ยขี้แพะฉบับง่าย ๆ มาแนะนำ
ขี้แพะ คืออะไร

ขี้แพะ หรือ มูลแพะจะมีลักษณะเป็นเม็ดแห้งเป็นขยะอินทรีย์ที่บางครั้งก็มาพร้อมปัสสาวะของมัน ขี้แพะสามารถใช้เป็นปุ๋ยและสารปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อการทำการเกษตรได้ มันช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารกระตุ้นการทำงานของจุลชีววิทยาในดิน และมีความสามารถในการกักเก็บน้ำโดยเฉพาะการปลูกมะพร้าว ขณะที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มมักใช้ขี้แพะ โรยที่โคนต้นปาล์ม เพื่อป้องกันหนูกัดกินต้นปาล์มได้
ทั้งนี้ การจะใช้ขี้แพะเป็นธาตุอาหารเพื่อการปรับปรุงดินหรือบำรุงต้นไม้ รวมถึงผักและผลไม้ทางการเกษตรได้นั้น ขี้แพะ หรือขี้แพะสดต้องนำมาผ่านกระบวนการหมักก่อน เพื่อให้ได้ปุ๋ยขี้แพะที่มีคุณภาพพร้อมกับการนำไปใช้
ปุ๋ยขี้แพะ คืออะไร
ปุ๋ยมูลแพะหรือปุ๋ยขี้แพะ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่ผลิตจากขี้แพะซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เหล่านี้ล้วนเป็นธาตุอาหารจำเป็นที่พืชต้องการ มักนิยมใช้ในการเกษตรกรรม, ทำสวน และจัดสวน เป็นต้น การใช้ปุ๋ยขี้แพะนับเป็นทางเลือกที่ดีแทนที่การใช่ปุ๋ยเคมี
งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ระบุว่าขี้แพะมีปริมาณของไนโตรเจนที่ถูกปล่อยออกมาหลังการหมักไปแล้ว 15 วัน จากนั้นก็จะปล่อยโพแทสเซียมออกมา ที่สำคัญยังส่งผลให้ค่า pH ในดินเพิ่มขึ้นเหมาะแก่การใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย
ทั้งนี้ ปุ๋ยขี้แพะก็ยังมีประโยชน์และข้อเสียที่ควรรู้ ดังนี้
ประโยชน์
ปุ๋ยขี้แพะ มีประโยชน์ดี ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้:
อุดมไปด้วยธาตุอาหาร
ธาตุอาหารสำคัญที่พืชต้องการและอยู่ในขี้แพะ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้งสิ้น
ออร์แกนิกและยั่งยืน
ปุ๋ยขี้แพะเป็นตัวเลือกธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำเกษตรอินทรีย์ การใช้ขี้แพะช่วยลดการพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศและสุขภาพดินได้
ปรับปรุงโครงสร้างดิน
อินทรียวัตถุในมูลแพะจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เพิ่มความสามารถในการเก็บกักสารอาหารและความชื้น ส่งผลให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นและพืชเติบโตได้ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ประหยัดงบประมาณ
เป็นที่ทราบกันดีสำหรับผู้ที่เลี้ยงแพะ การใช้ปุ๋ยคอกนับเป็นวิธีในการบำรุงดิน บำรุงการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินไปกับปุ๋ยเคมีที่วางขายตามท้องตลาด
ลดการสูญเสีย
การใช้ปุ๋ยมูลแพะนับเป็นวิธีที่ยั่งยืนใสการจัดการกับของเสียที่เกิดจากการเลี้ยงแพะ ด้วยการเปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์หรือเป็นของเสียให้เป็นมูลค่าและเป็นประโยชน์ได้
ประโยชน์หลากหลาย
ปุ๋ยมูลแพะสามารถนำมาใส่กับต้นไม้ ต้นปาล์ม ผัก ผลไม้ ดอกไม้ รวมถึงไม้ประดับได้
ข้อเสีย

เรามักจะโรยปูนขาว (calcium hydroxide) ใต้คอกแพะเป็นประจำ เพื่อช่วยลดกลิ่น ควบคุมแบคทีเรียและเชื้อโรค รวมถึงดูดซับความชื้นจากมูลแพะ
แม้ว่าปุ๋ยขี้แพะจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อเสียที่ควรรู้ ดังนี้:
กลิ่นแรง
ขี้แพะอาจมีกลิ่นแรง ซึ่งอาจก่อความรำคาญต่อเพื่อนบ้านได้
มีเมล็ดวัชพืช
ในขี้แพะอาจมีเมล็ดวัชพืชที่หากคุณนำไปโรยที่หน้าดิน มันอาจมีต้นวัชชพืชเติบโตมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หากคุณไม่ได้มีการหมักอย่างเหมาะสมหรือนำไปบ่มก่อนใส่
เชื้อโรค
เช่นเดียวกับมูลสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในขี้แพะจะมีเชื้อโรคอย่าง อี. โคไล (E. coli) และซัลโมเนลลา(Salmonella) ซึ่งหากนำไปใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจส่งผลต่อสุขภาพได้
ธาตุอาหารไม่สมดุล
แม้ว่าในขี้แพะจะมีธาตุอาหารสำคัญอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม แต่ปริมาณของธาตุอาหารเหล่านี้อาจต่างกันไปขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้แพะกินและอายุของแพะ
ขี้แพะที่เกิดจากโรคแพะ
หากแพะเกิดการติดเชื้อและเป็นโรค อาทิ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินทางอาหาร จะส่งผลให้ขี้แพะนิ่ม, เหลวเป็นน้ำ และมีกลิ่นเหม็น ซึ่งโรคของแพะหลาย ๆ โรคมีอาการดังกล่าวนี้ ได้แก่ โรค colibacillosis, ไข้รากสาดเทียม, โรค Johne, ไข้ Rift Valley (Slenkdalkoors), โรคบิด, หนอน,พยาธิ และพืชที่มีพิษ
คุณควรสังเกตพฤติกรรมแพะของคุณ แพะส่วนใหญ่มักชอบอยู่รวมเป็นฝูง ในขณะที่ก็มีบางตัวชอบที่จะไปกับเพื่อนแค่ 2 ตัว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แพะของคุณที่เคยไปเป็นฝูงกลับแยกตัว และแพะที่เคยชอบแยกตัวกลับมาอยู่ในฝูง ชวนตัวอื่นทะเลาะ และเมินกับอาหาร ให้สันนิษฐานได้เลยว่าแพะของคุณอาจมีปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ หากคุณสงสัยว่าแพะอาจป่วยให้ทำการแยกคอก และตรวจสุขภาพให้ละเอียด หากคุณพิจารณาแล้วกรณี้นี้เกินความสามารถของคุณ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
ขี้แพะราคาเท่าไหร่
ขี้แพะสดที่มีคุณภาพดี สามารถขายได้กระสอบละ 40 – 55 บาท ต่อ 10 กิโลกรัมโดยประมาณ จากนั้นเกษตรกรก็จะนำผ่านกระบวนการผสมและหมักเอง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเราได้
เมื่อคุณซื้อขี้แพะ ปุ๋ยคอกมักจะมีหญ้าแห้งปนอยู่ด้วย ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด หญ้าแห้งยังมีประโยชน์ในกระบวนการทำปุ๋ยหมักอีกด้วย เนื่องจากหญ้าแห้งจะเพิ่มคาร์บอนและเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ (และลดกลิ่น) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการทำปุ๋ยหมัก
ปัจจุบันความต้องการปุ๋ยขี้แพะจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและต้นปาล์มมีสูงมาก ราคาเฉลี่ยในปี 2566 บนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งอย่าง Lazada และ Shopee อยู่ที่ 50 บาทต่อถุง 10 กิโลกรัม ในปี 2024 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บาท หากคุณมีผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ของคุณ โปรดติดต่อพวกเขาโดยตรง เพื่อรับราคาที่ดีที่สุด
วิธีหมักปุ๋ยขี้แพะ ฉบับง่าย ๆ

ลูกแพะตัวนี้กำลังนอนพักอยู่บนแกลบ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำหรับสูตรการหมักปุ๋ยในขั้นตอนต่อไป
การหมักปุ๋ยขี้แพะ ในบทความนี้จะเป็นวิธีการหมักแบบง่าย ๆ ที่คุณก็สามารถทำเองได้ ดังนี้
ส่วนผสม
- น้ำเปล่า 20 ลิตร
- EM 1 ลิตร
- กากน้ำตาล 1 ลิตร
- ขี้แพะ 4 กิโลกรัม
- แกลบ 4 กิโลกรัม
- รำกลาง 2 กิโลกรัม
วิธีการหมัก
- นำน้ำเปล่า, EM และ กากน้ำตาลมาผสมรวมกัน คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 20-30 นาที
- นำขี้แพะ, แกลบ และรำกลางมาคลุกผสมรวมกัน
- จากนั้นแหวกกองส่วนผสมแห้งให้เป็นหลุมตรงกลาง
- นำน้ำหมักที่ผสมไว้แล้ว ค่อย ๆ รดลงที่กองส่วนผสมแห้งทีละน้อย คลุกให้เข้ากัน (ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำหมักให้หมด)
- หลังจากคลุกให้เข้ากัน ให้ปุ๋ยขี้แพะมีลักษณะที่ไม่แห้งหรือไม่แฉะจนเกินไป ตักใส่ถุงปุ๋ยที่เตรียมไว้ได้
ขี้แพะสดที่มีคุณภาพดี สามารถขายได้กระสอบละ 40 – 55 บาท ต่อ 10 กิโลกรัมโดยประมาณ จากนั้นเกษตรกรก็จะนำผ่านกระบวนการผสมและหมักเอง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเราได้
บทสรุป
ขี้แพะหรือมูลแพะเป็นอินทรีย์สารที่สามารถช่วยเพิ่มสารอาหารในดินได้เป็นอย่างดี มีธาตุอาหารจำเป็นที่ผักและผลไม้ต้องการได้แก่ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมอยู่เป็นจำนวนมาก
ขี้แพะสดสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักขี้แพะได้ ผู้เลี้ยงแพะส่วนใหญ่จะนำขี้แพะสดใส่กระสอบขายประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 40-55 บาท ซึ่งวิธีการหมักปุ๋ยขี้แพะมีมากมายหลายสูตร และมีความแตกต่างกันไปในส่วนผสมขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
ขี้แพะอาจดูไร้ค่าในสายตาของบางคน แต่สำหรับผู้ที่เลี้ยงแพะแล้วมันเป็นสารอินทรีย์ที่มีมูลค่าระดับหนึ่งทีเดียว เป็นการเพิ่มมูลค่าและลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังเป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่เกษตรกรในกลุ่มธุรกิจอื่นให้ดีผลผลิตที่ดีขึ้นอีกด้วย