แพะมีกี่ประเภท และสายพันธุ์แพะที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย

Christopher Baude
Written by Baude Christopher การตลาด
Updated: 2024-12-01
Mixed goat breeds

Table of Contents

หากพูดถึงสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมของเกษตรกรไทย คงหนีไม่พ้น ‘แพะ’ ซึ่งสถิติการเลี้ยงแพะในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรแพะอยู่ที่ 1,492,841 ตัว และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ รวม 90,204 ราย โดยมากยังพบว่าเป็นเกษตรกรรายย่อยและเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

โดยทั่วไปแล้วแพะ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แพะนม, แพะเนื้อ และแพะขน ซึ่งขนของแพะที่ได้ จะนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นในช่วงที่อากาศหนาวจัด แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนจึงไม่นิยมเลี้ยงแพะขน

ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะพูดถึงแพะนม, แพะเนื้อ และแพะสัตว์เลี้ยง ซึ่งแต่ละประเภทมีสายพันธุ์รวมกันมากกว่า 10 สายพันธุ์ แต่จะมีบางสายพันธุ์ที่เกษตรกรไทยนิยมเลี้ยง ได้แก่ พันธุ์ซาแนน (Saanen), พันธุ์อัลไพน์ (Alpine) และพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นต้น แพะแต่ละประเภทจะมีลักษณะทางกายวิภาคที่ต่างกันอย่างไรบ้าง จะหาซื้อแพะสายพันธุ์ที่ต้องการได้ที่ไหน ราคาเท่าไหร่ คุณสามารถทราบได้ เพียงแค่คลิกที่สายพันธุ์แพะที่คุณต้องการ

แพะนม

แพะนมเป็นแพะที่เลี้ยงมาเพื่อการรีดนมโดยเฉพาะ โดยนมแพะมีคุณค่าทางสารอาหารใกล้เคียงกับนมวัว แต่นมแพะจะย่อยง่ายกว่า เม็ดไขมันมีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้ร่างกายคนเราสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า

สายพันธุ์แพะนมที่นิยมเลี้ยงมี ดังนี้

แพะพันธุ์ซาแนน (Saanen)

Saanen at Dairy Goat Show

แพะพันธุ์ซาแนนเป็นแพะนมที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุด มีลักษณะขนสีขาวหรือขาวครีม มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดามาตรฐานของแพะนม หูจะตั้งตรงและสั้นคล้ายแพะพันธุ์อัลไพน์ มีนิสัยที่สุขุมและเข้ากับคนได้ง่าย

แพะนมพันธุ์ซาแนนน เป็นแพะที่ให้นมในปริมาณมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีแห่งแพะนม’ เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 70 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 50 กิโลกรัม มีเต้านมใหญ่ เรียวยาว ซึ่งสามารถให้น้ำนมเฉลี่ย 3 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine)

อัลไพน์เป็นชื่อที่หลาย ๆ คนคุ้นหูกันดีในชื่อของเทือกเขาแอลป์ในประเทศฝรั่งเศส พวกมันมีลักษณะที่เป็นมิตร และแข็งแรง

แพะพันธุ์อัลไพน์มีหูที่ตั้งตรง ขนลำตัวมีหลายสี เช่น ขาว-ดำปนกัน, สีฟางข้าว, สีครีม, สีน้ำตาล หรือสีแดง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แพะตัวเมียเมื่อเติบโตเต็มที่จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัม ขณะที่ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 75 กิโลกรัม แพะพันธุ์อัลไพน์นับเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แพะนมที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมันสามารถให้ปริมาณนมมากอย่างสม่ำเสมอ โดยอยู่ที่ 2 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์แองโกล นูเบียน (Anglo Nubian)

Young pure breed anglo-nubian buckling in grey black colour

แพะพันธุ์แองโกล-นูเบียนเป็นแพะที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเด่น คือ ขายาว สันจมูกโด่งงุ้มอย่างเห็นได้ชัด มีหูตกห้อยยาว สำหรับแพะเด็กจะมีขนจะสั้นและเรียบ ส่วนแพะที่โตวัยหนุ่มสาวขนจะค่อนข้างหยาบและยาวกว่า ขนอาจมีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีทึบหรือลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายหินอ่อนหรือลายจุด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือสีขาว ครีม สีน้ำตาลแกมเหลือง สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ

เมื่อโตเต็มวัย แพะตัวผู้จะน้ำมีหนักเฉลี่ยที่ 60-70 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 50-60 กิโลกรัม และสามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้ประมาณ 1.5 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan)

Laoshan goat buck with curly hair no head

แพะพันธุ์หลาวซานนับเป็นแพะนมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นแพะชั้นยอดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีความต้านทานโรคสูง มีลักษณะนิสัยกระฉับกระเฉง ร่าเริง ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง

หลาวซานเป็นแพะที่มีขนสีขาว ขนที่ลำตัวจะสั้นกว่าที่แก้ม หูสั้น ชี้ตั้งตรง น้ำหนักของแพะตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80 กิโลกรัม ขณะที่แพะตัวเมียจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 60 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้เฉลี่ย 2.2 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburgs)

Toggenburgs goat at a competition

แพะสายพันธุ์ทอกเก็นเบิร์กเป็นแพะนมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลักษณะของมันถือว่าเป็นแพะที่เล็กกว่าแพะนมทั่วไปอย่างพันธุ์ Saanen, Nubian และ Alpine โดยทั่วไปขนจะเป็นสีช็อกโกแลต ใบหูตั้ง หน้ามองตรงจะมีแถบสีขาวข้างแก้ม สังเกตเห็นได้ชัด

น้ำหนักของแพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์กตัวผู้เฉลี่ยอยู่ที่ 75 กิโกลกรัม ขณะที่ตัวเมียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 55 กิโลกรัม และสามารถให้ผลผลิตน้ำนมอยู่ที่ 2 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์ไนจีเรียนดวาฟ (Nigerian Dwarf)

Nigerian dwarf goat in a closed pasture

แพะพันธุ์ไนจีเรียนดวาฟเป็นแพะแคระหรือแพะนมสายพันธุ์เล็ก ซึ่งอาจจะมีเขาหรือไม่มีเขาก็ได้ ขนสั้น อาจมีได้ทั้งแบบสีเดียวและหลายสี อาทิ สีทอง, สีช็อกโกแลต และสีดำ มักมีจุดสีขาวบนใบหน้า หูตั้ง มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เก่ง มีนิสัยขี้เล่น แต่อ่อนแอต่อความชื้น นอกจากนี้ แพะสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงให้เป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจได้อีกด้วย

น้ำหนักโดยเฉลี่ยของแพะสายพันธุ์นี้จะอยู่ที่ 25 – 30 กิโลกรัม ให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยที่ 2 – 4 ลิตร/วัน

แพะพันธุ์ปิ๊กมี่ (Pygmy)

Two red and white pygmy goat kids

แพะพันธุ์ Pygmy หรือ Mini Pygmy เป็นแพะเคระที่มีความสูงเพียง 30 – 40 เซนติเมตรเท่านั้น มันเดินทางมาจากแอฟริกา แม้ว่าจะเป็นแพะสายพันธุ์จิ๋วแต่ก็มีความแข็งแรง ตัวผู้จะมีเครายาว มีขนตามลำตัวที่นุ่มสวย ขณะที่ตัวเมียจะตัวเล็ก ๆ น่ารัก ฉลาด ขี้อ้อน และมีความซน สีตามลำตัวจะมีเพียงไม่กี่สี ได้แก่ สีขาว, สีน้ำตาล และสีดำ

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วแพะแคระมักไม่นับว่าเป็นแพะนม เนื่องจากว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งแม้แต่เรื่องของการออกลูกยังต้องอาศัยการผ่าตัด การเลี้ยงแพะพันธุ์ Pygmy เสียค่าใช้จ่ายแพะนมมาตรฐานทั่วไป มันจึงสามารถเลี้ยงได้ทั้งในเมืองและในชนบท

ปริมาณผลผลิตของน้ำนมของแพะพันธุ์ปิ๊กมี่เฉลี่ยอยู่ที่ 1 – 2 ลิตร/วัน

แพะเนื้อ

เนื้อของแพะหากนำมาเทียบกับสัตว์เคี้ยวเอื้องประเภทอื่น เช่น แกะ หรือ โค เราจะพบว่าเนื้อของแพะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า มีโปรตีนที่ย่อยได้ง่ายกว่า

สายพันธุ์ของแพะเนื้อที่นิยมเลี้ยง มีดังนี้

แพะพันธุ์บอร์ (Boer)

American boer goat white and brown

แพะพันธุ์บอร์เป็นสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงกันมากที่สุดในประเภทแพะเนื้อ เป็นแพะที่มีขนาดตัวใหญ่และหนัก ลักษณะจะคล้ายพันธุ์นูเบียนที่จมูกโด่งและหูยาว ลำตัวมีขนสีขาวและสีน้ำตาลแดง บางตัวก็มีสีน้ำตาลแดงทั้งตัว บางตัวมีเขา บางตัวไม่มีเขา เขาสั้นและมีลักษณะโค้งไปทางศีรษะ

แพะพันธุ์บอร์เป็นสายพันธุ์ที่มาจากแอฟริกาใต้นำเข้าโดยกรมปศุสัตว์ เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีนิสัยที่อ่อนโยน ทนต่ออากาศร้อนและเย็น โดยในประเทศไทยแพะสายพันธุ์นี้กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็ว และให้เนื้อมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชาแห่งแพะเนื้อ

น้ำหนักของตัวผู้ที่โตเต็มวัยเฉลี่ยอยู่ที่ 90 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 65 กิโลกรัม

แพะพันธุ์คิโกะ (Kiko)

Kiko buck standing in a pasture

แพะพันธุ์คิโกะ เป็นแพะสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ จัดเป็นประเภทแพะเนื้อ ส่วนใหญ่มักมีสีขาว มีเขายาวคล้ายดาบสั้น มีหูขนาดกลาง สายพันธุ์นี้ไม่ต้องการอาหารเสริม ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีของเกษตรกรซึ่งสายพันธุ์นี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าแพะพันธุ์บอร์s

‘Kiko’ แปลว่า เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค มาจากภาษาเมารี แพะสายพันธุ์นี้มีความแข็งแรง และมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าสายพันธุ์บอร์ น้ำหนักขอแพะพันธุ์คิโกะโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60 – 70 กิโลกรัม

แพะพันธุ์สแปนนิช (Spanish)

Spanish goat buck in black and grey colour

Spanish goat แพะสเปน หรือ แพะแปรง แพะสครับ และแพะป่า เป็นแพะที่มีขนาดกลางและลำตัวยาวมีเขายาวมักจะบิดตรงปลาย ขนของมันมีทุกสีและส่วนใหญ่จะเป็นขนสั้นแต่บางตัวก็จะมีขนยาว เป็นที่รู้กันว่าเป็นการผสมข้ามพันธุ์กับ Nubian, Angora, Boer และ Alpine หรืออื่น ๆ

แพะพันธุ์สแปนนิชจะมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย พวกมันจึงดูแข็งแกร่งกว่าแพะพันธุ์บอร์และพันธุ์คิโกะ

แพะเลี้ยง

แพะเป็นสัตว์ที่มีความคล่องตัว บางคนเลี้ยงแพะเพื่อให้เป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็ไม่ใช่แพะทุกสายพันธุ์จะสามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักได้ เพราะบางสายพันธุ์ก็มีนิสัยดุร้าย เพราะฉะนั้นไปดูเลยว่ามีแพะสายพันธุ์ไหนบ้างที่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจได้บ้าง

แพะพันธุ์คินเดอร์ (Kinder)

Black, white and grey kinder goat

Kinder เป็นแพะที่มีขนาดกลางเกิดจากการผสมระหว่างแพะพันธุ์ Pygmy และ Nubian แพะสายพันธุ์นี้สามารถเป็นได้ทั้งแพะนมและแพะเนื้อ มีหูยาวตั้งฉากไปกับด้านข้างของศีรษะ เมื่อจับหูของมันมาแนบลงมาจะมีความยาวจรดไปถึงกรามของมันเลยทีเดียว ขนของมันละเอียดและมีสีเนื้อ

โดยทั่วไปแล้วแพะพันธุ์คินเดอร์นี้จะมีความสูงอยู่ที่ 50 – 66 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 50 – 70 กิโลกรัม มีนิสัยตื่นตัว คล่องแคล่ว และชอบอยูเป็นฝูง

แพะพันธุ์ Miniature Silky Fainting Goats

Miniature Silky goat with white hair to the ground

แพะสายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งคือ Mini Silkies มันเป็นแพะสายพันธุ์มินิที่น่ารักที่เท่าที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้ มันมีขนยาวคล้ายเสื้อโค้ทที่ยาวถึงพื้นและมีหน้าม้าปกที่หน้าผาก หูตั้งตรง มีตาสีฟ้าหรือบางตัวอาจมีสีน้ำตาล และแน่นอนว่าเวลาที่ตกใจมันก็น่าเอ็นดูไปอีกแบบ

แพะพันธุ์มินิปิ๊กมี่ (Mini pygmy)

แพะพันธุ์มินิปิ๊กมี่เป็นอีกหนึ่งแพะสายพันธุ์จิ๋วที่มีส่วนสูงเพียงแค่ 30 – 40 เซนติเมตร มีขาสั้น ลำตัวเล็ก และมีกระดูกที่หนัก มีขนที่หนาตรง ยาวปานกลาง ตัวผู้มีเคราและแผงที่คอคล้าย ๆ ว่ามันใส่เสื้อคลุมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแพะแคระสายพันธุ์นี้สามารถให้กำเนิดลูกได้ 1 – 4 ตัว ทุก ๆ 9 – 12 เดือน และผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี

ความต่างทางกายวิภาคศาสตร์ของแพะแต่ละประเภท

แพะแต่ละประเภทจะมีกายวิภาคศาสตร์ที่ต่างกัน แพะนมจะมีโครงสร้างของเต้านมและจุกนมที่ใหญ่ เพื่อง่ายต่อการรีดนม ขนาดของแพะนมจะมีขนาดกลางถึงใหญ่เฉลี่ยแล้วจะมีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 54 – 91 กิโลกรัม อาทิ พันธุ์ซาแนน, พันธุ์นูเบียน และพันธุ์อัลไพน์

แพะเนื้อจะมีโครงสร้างของช่วงอกที่กว้างกว่า เจริญเติบโตได้เร็วกว่าแพะนม เพื่อเป็นการเพิ่มการผลิตเนื้อที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

สำหรับแพะเลี้ยงมักจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ได้ โดยมากจะให้ความสำคัญที่ลักษณะนิสัยมากกว่า และสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมักเป็นสายพันธุ์ Pygmy และ Nigerian Dwarf เป็นต้น

ความต่างกันทางกายวิภาคนี้เป็นการปรับให้เหมาะกับการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง, สุขภาพ, ความร่าเริง และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม

บทสรุป

แพะมีหลายประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทก็จะมีสายพันธุ์แพะที่เกษตรกรไทยนิยมเลี้ยง เริ่มจากแพะนม อาทิ พันธุ์ซาแนน เนื่องจากมันให้ผลผลิตนมในปริมาณมากเฉลี่ย 3 ลิตร/วัน และพันธุ์อัลไพน์ที่ให้ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 2 ลิตร/วันอย่างสม่ำเสมอ

แพะเนื้อ ได้แก่ สายพันธุ์บอร์ เนื่องจากมีขนาดตัวใหญ่ จึงให้ปริมาณเนื้อมาก และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี

และสายพันธุ์แพะเลี้ยงที่นิยม ได้แก่ พันธุ์คินเดอร์, พันธุ์มินิปิ๊กมี่ และพันธุ์ Miniature Silky Fainting Goats เป็นต้น

สำหรับมือใหม่ที่สนใจอยากจะหันมาเลี้ยงแพะ ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าแพะแต่ละประเภทต้องการการดูแล, สารอาหาร และควรจัดการสถานที่เลี้ยงแบบใด ทั้งนี้คุณสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะแต่ละสายพันธุ์จากเว็บไซต์ของเราได้ เพื่อความสำเร็จในการเลี้ยงแพะที่ง่ายกว่า

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *